ข้อมูล แร่

ความหมายของแร่ดีบุก

          คือธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 50 และสัญลักษณ์คือ Sn (มาจากคำในภาษาลาตินว่า Stannum) ดีบุกเป็นโลหะที่ไม่ดี หลอมเหลวได้ง่าย ทนต่อการกัดกร่อน และถูกอ๊อกซิไดซ์ในอากาศได้ดี พบในโลหะผสมหลายชนิด ใช้ประโยชน์ในการเคลือบโลหะเพื่อป้องกันการกันกร่อน ดีบุกส่วนใหญ่สกัดได้จากแร่แคสสิเตอร์ไรต์ (cassiterite)

แร่ดีบุกที่พบในประเทศไทยมี 2 ชนิด

1. แคสซิเทอไรต์ (cassiterite) ซึ่งพบและเป็นแร่เศรษฐกิจเพียงชนิดเดียวสูตรทางเคมีคือ SnO2 โดยมีส่วนประกอบของ Sn และ O ประมาณ 78.6% และ 21.4% ตามลำดับ
2. สแตนไนต์ (stannite) พบน้อยมากและไม่มีการผลิต คุณสมบัติทางกายภาพของ แคสซิเทอไรต์ มีดังนี้ มีรูปผลึกระบบเททราโกนาลแข็ง 6-7 ทนทานต่อการสึกกร่อนได้ดี ความถ่วงจำเพาะ (ถ.พ.) 6.8-7.1 วาวอโลหะแบบเพชรหรือกึ่งโลหะ สีของแร่ส่วนมากที่พบมักจะมีสีน้ำตาลดำหรือดำ สีน้ำผึ้ง เหลือง แดง และม่วงคล้ายเปลือกมังคุด สีจำปาผงละเอียดสีขาว

การกำเนิด

การกำเนิดของแร่ดีบุกในประเทศไทยนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหินอัคนีแทรกซอนชนิดกรด (acid rock) โดยทั่วไปแล้วจะเกิดอยู่ในสายแร่แบบน้ำร้อนแทรกในหินพวกแกรนิตหรือหินชั้นที่อยู่ข้างเคียง และอาจเกิดเป็นก้อนหรือผลึกเล็ก ๆ ฝังในหินเพกมาไทต์ หินสการ์น รวมถึงในหินแกรนิตที่อยู่ใกล้กับบริเวณเขตสัมผัสกับหินข้างเคียงด้วย เนื่องจากดีบุกเป็นแร่ที่มีความทนทานต่อการสึกกร่อนทางกายภาพสูงเมื่อหินต้นกำเนิดผุพัง จึงมักจะถูกนำพาไปสะสมตามเชิงเขาหรือแอ่งและที่ราบลุ่มต่าง ๆ เกิดเป็นแหล่งแร่ดีบุกแบบลานแร่ (placer) สายแร่ดีบุกโดยปกติมักมีแร่ที่มีฟลูออรีนหรือโบรอนอยู่ด้วย เช่น ทัวร์มาลีน โทแพช ฟลูออไรต์ และอะพาไทต์ ส่วนแร่อื่นที่พบเกิดร่วมกับแร่ดีบุก เช่น วุลแฟรไมต์ ชีไลต์ แร่ตระกูลไนโอเบียม-แทนทาลัม อิลเมไนต์ โมนาไซต์ ซีโนไทม์ และเซอร์คอน

แหล่งในประเทศ

          ส่วนใหญ่พบทางซีกด้านตะวันตกของประเทศติดกับชายแดนประเทศสหภาพพม่า โดยพบในภาคใต้ทุกจังหวัด ภาคกลางมีที่จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคเหนือพบในจังหวัดกำแพงเพชร ตาก เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ส่วนภาคตะวันออกพบที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ประโยชน์ แคสซิเทอไรต์ เป็นสินแร่ที่สำคัญของโลหะดีบุก เนื่องจากโลหะดีบุกมีคุณสมบัติในด้านการทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดและสารละลายต่างๆ ไม่เป็นสนิม ผสมเป็นเนื้อเดียวกับโลหะอื่นได้ดี และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย จึงถูกนำมาใช้ในการเคลือบโลหะต่างๆ ที่ทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารเป็นส่วนใหญ่ ใช้ผสมตะกั่ว เงิน หรือทองแดงเป็นโลหะบัดกรี ผสมกับโลหะอื่นทำภาชนะประดับและศิลปวัตถุต่างๆ เช่น พิวเตอร์และบรอนซ์ ผสมกับเงินและปรอททำสารอุดฟันทางทันตกรรม
          นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ สารประกอบของดีบุกสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง ได้แก่ ใช้ในการผลิตแก้วเนื้อทึบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ สิ่งทอ กระจกแผ่นเรียบ พลาสติก สีทาบ้าน ยากำจัดพยาธิในสัตว์ ยาสีฟัน และใช้ในการฟอกน้ำตาล เป็นต้น ผลผลิต การทำเหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทยนั้นคาดว่าได้มีมาช้านานแล้ว โดยเริ่มมีการทำเหมืองผลิตแร่ดีบุกที่ภาคใต้ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับขึ้นมาทางภาคกลาง เหนือ และตะวันออกตามลำดับ
          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. 2061) ก็ได้มีการส่งออกแร่ดีบุกแล้ว สถิติการผลิตแร่ดีบุกในช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2541 มีดังนี้ 1,457; 756; และ 2,123.7เมตริกตัน มูลค่า 162; 92.2; และ 336.81 ล้านบาท ตามลำดับ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2541) ประเทศไทยได้ผลิตแร่ดีบุกไปแล้วทั้งสิ้น 1,561,255 เมตริกตัน